Image
โครงการพัฒนาพื้นที่อย่างมีศักยภาพ
เพื่อรองรับการลงทุนในจังหวัด
ที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูง

หลักการและเหตุผล

      แผนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตภาพ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในระดับจังหวัดและภูมิภาค รวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มโอกาสการส่งออกและการจ้างงาน ปัจจุบันอุตสาหกรรมของประเทศไทยมีส่วนสำคัญใน การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมือง มีการสร้างงานของประชาชนในชุมชน ก่อให้เกิดรายได้สำหรับท้องถิ่น และเป็นพื้นฐานที่จำเป็น ในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคในอนาคต โดยมีแรงผลักดันด้านแผนพัฒนายุทธศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นโยบายผังเมือง การใช้ที่ดิน ดังนั้น แผนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมจะต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของประเทศและนโยบายระดับท้องถิ่น แต่การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในพื้นที่ของจังหวัดก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งมักเกิดความขัดแย้งระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพัฒนา ดังนั้นการจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัด นอกจากการศึกษาขอบเขตและรายละเอียดของพื้นที่อุตสาหกรรม สภาพแวดล้อมของพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีความสัมพันธ์กับเมือง แผนนโยบายต่างๆ ที่มีในปัจจุบันศักยภาพ และความสามารถในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคตแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความต้องการของ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่จะพัฒนา
      การพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ซึ่งในปี 2557 รัฐบาลได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) ไว้ในประเด็นเพื่อแก้ไขปัญหา หรือลดข้อขัดแย้งของสังคม ระหว่างชุมชนและภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเป็นปัญหา ยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่อง แผนการใช้ที่ดิน (Zoning) เพื่ออุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมไทย ภายใต้นโยบายอุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างปรกติสุข โดยมีเป้าหมายที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ได้แก่ การไม่ยอมรับของชุมชนในอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน โรงงานผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
      ดังนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงจัดทำโครงการศึกษาศักยภาพการใช้พื้นที่เพื่ออุตสาหกรรมในจังหวัดที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูง เพื่อจัดเตรียมพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ โดยมีการเชื่อมโยงภาคการผลิตอุตสาหกรรม สู่ประชาคมอาเซียน (AEC) โดยมีแผนงานการบริหารจัดการด้าน Logistics และสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา รวมทั้งแผนงานการกำกับควบคุมโรงงานมิให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

วัตถุประสงค์

      จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม ที่สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ของจังหวัดที่มีอัตราการเติบโตสูงในปัจจุบัน

พื้นที่เป้าหมายและกลุ่มเป้าหมาย

      กลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดที่มีการเจริญเติบโตสูงจำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดสระบุรี

ผลผลิต/ผลลัพธ์

      1. มีแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม
      2. เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมให้มีความสมดุลและยั่งยืน
      3. เพื่อเสริมสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น