ความเป็นมาของโครงการ
ภาคอุตสาหกรรมเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอดและเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของภาคอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นตามลำดับ ตัวเลข GDP ของภาคอุตสาหกรรมนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความสำคัญในทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมต่อประเทศเท่านั้น แต่ยังบ่งบอกถึงการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชาติอย่างมากมาย และหลากหลายกลุ่มอาชีพ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมไม่ได้มีเพียงผลกระทบในเชิงบวกดังที่กล่าวมาแล้ว แต่มีผลกระทบในเชิงลบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม หากว่าภาครัฐขาดการวางแผนและควบคุม การกำกับดูแลที่ดี ดังที่ปรากฏจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เกิดในจังหวัดต่างๆ ที่มีการประท้วงและเกิดกระแสการต่อต้าน โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการที่มีอยู่เดิมรวมถึงการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่อนุญาตใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุน และขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในปัจจุบันการประกอบกิจการอุตสาหกรรมใหม่นับวันเกิดขึ้นได้ยาก และมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากกระแสต่อต้านการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมตามที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และ บรรยากาศการลงทุน รวมถึงส่งผลเสียภาพลักษณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสังคม โดยศึกษาและวางแผนพัฒนาและประเมินศักยภาพ พื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมโดยต้องคำนึงถึงความสมดุลในมิติต่างๆ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคต่างๆ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงแผนพัฒนาระบบการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมใกล้เคียง ตลอดจนศักยภาพในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถประกอบกิจการได้อย่างมีศักยภาพและอยู่ร่วมกับชุมชน ตลอดจนสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งมาตรการหรือเครื่องมือที่ใช้อย่างหนึ่งก็คือการจัดพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อการตั้งโรงงาน (Industrial Zoning) โดยเป็นการศึกษาพื้นที่เพื่อการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่เหมาะสมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดรายละเอียดการบริหารจัดการ และเงื่อนไขในการอยู่ร่วมกันของโรงงานอุตสาหกรรมโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การดำเนินการต้องตั้งอยู่บนหลักวิชาการ การพัฒนาที่ยั่งยืน และการมีส่วนรวมของชุมชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ดังนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงจัดทำโครงการศึกษาพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุน เพื่อเป็นแนวทางการจัดเตรียมพื้นที่รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ของประเทศและศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยในปีงบประมาณ 2562 ได้ว่าจ้างบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการ ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 – เดือนกันยายน พ.ศ. 2562