ภาคอุตสาหกรรมเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด และนับวันก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของภาคอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นตามลำดับ จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2554 มีสัดส่วนเป็น 40% ของ GDP ของประเทศ
มีมูลค่ารวม 4.3 ล้านล้านบาท ตัวเลข GDP ของภาคอุตสาหกรรมนี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความสำคัญในทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมต่อประเทศเท่านั้น แต่ยังบ่งบอกถึงการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับคนในชาติอย่างมากมาย และหลากหลายกลุ่มอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นระดับรากหญ้า เกษตรกร นักวิชาการ หรือเจ้าของกิจการ นอกจากนั้นแล้วยังผลักดันให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนเทคโนโลยีของประเทศ และที่สำคัญภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกของห่วงโซ่การผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบให้สูงขึ้น สนองตอบความต้องการของชาติในการลดการพึ่งพานำเข้าสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมไม่ได้มีเพียงผลกระทบในเชิงบวกดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ยังคงมีผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หากว่าภาครัฐขาดการวางแผนและการจัดการที่ดี ดังที่ปรากฏจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เกิดในจังหวัดระยอง มีการประท้วงโรงงานก่อมลพิษ การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในจังหวัดฉะเชิงเทรา หรือการปนเปื้อนของแหล่งน้ำไม่ว่าจะเป็น คู คลอง หรือแม่น้ำ ซึ่งเหตุดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการที่มีอยู่เดิม รวมถึงการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่อนุญาตใหม่ ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุน และขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในปัจจุบันการประกอบกิจการอุตสาหกรรมใหม่นับวันเกิดขึ้นได้ยาก และมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากกระแสต่อต้านการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมตามที่กล่าวไปแล้ว แม้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างสูง หรือในวงกว้างขวาง แต่ยังคงมีการคัดค้านจากกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และบรรยากาศการลงทุน รวมถึงภาพลักษณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากปล่อยให้เนิ่นนานไป ผลกระทบนี้จะขยายวงกว้างไปสู่ห่วงโซ่การผลิตอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคม ประเทศ ยังต้องการโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อความมั่นคงของเศรษฐกิจ การสร้างงานสนองตอบความอยู่ดีกินดีของประชาชน และขับเคลื่อนกลไกการผลิตต่อไป ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสังคม โดยการสร้างกฎเกณฑ์ กติกาให้ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับเชิงวิชาการ จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยต้องคำนึงถึงความสมดุลในมิติต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการวางแผนและการจัดการที่ดี เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข มาตรการหรือเครื่องมือที่ใช้อย่างหนึ่งก็คือ การจัดพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อการตั้งโรงงาน (Industrial Zoning) โดยต้องศึกษาพื้นที่เพื่อการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่เหมาะสมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดรายละเอียดการบริหารจัดการ และเงื่อนไขในการอยู่ร่วมกันของโรงงานอุตสาหกรรม โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การดำเนินการต้องตั้งอยู่บนหลักวิชาการการพัฒนาที่ยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
1. เพื่อกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับผังเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลง
2. เพื่อความเหมาะสมในการหาวิเคราะห์ข้อมูลและแก้ไขปัญหา ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์และตามหลักวิชาการ
3. เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ และเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน โดยการศึกษาข้อมูลพื้นฐานทุกมิติของแต่ละพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม
จังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ผลผลิต/ผลลัพธ์ 1. ผังพื้นที่อุตสาหกรรมที่เหมาะสมของจังหวัดเป้าหมายพร้อมแผนพัฒนาให้พื้นที่กำหนดเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
2. แผนพัฒนาระบบการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรม รวมถึงความเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ
3. แผนพัฒนาและแผนการจัดการกระบวนการกำจัดมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรม
4. แผนยุทธศาสตร์เชิงรุกในการพัฒนาให้พื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมได้ตามเป้าหมาย